13.4.53

พืชผักที่อุดมด้วยสารไฟโตนิวเทียนท์ และสารต้านอนุมูลอิสระ

กระเทียม (Garlic)
กระเทียมอุดมไปด้วยสารไฟโตนิวเทรียนท์กลุ่มที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ (Thioallyl Compounds)
เช่น อัลลิซิน (Allicin) ใช้ในทางสมุนไพรและการแพทย์มานาน ทั้งในรูปกระเทียมสด กระเทียมบดแห้ง กระเทียมบ่ม สกัดกับแอลกอฮอล์ หรือน้ำส้มสายชู และน้ำมันกระเทียม

หอมหัวใหญ่ (Onion)
หัวหอมเป็นอาหารที่นิยมใช้ต้านโรคกันมานานพันปี ใช้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้หลายโรค หัวหอมมีสารไฟโตนิวเทรียนท์ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง สารบางชนิดช่วยลดโคเลส
เตอรอล แก้หอบหืด โดยพบว่าหัวหอมมีสารไฟโตนิวเทรียนท์ช่วยต้านอาการอักเสบ (Anti-Inflammatory) และมีสารไธโอซัลฟิเนต (Thiosulphinates) ซึ่งเป็นสารตัวหลักที่ช่วยลดอาการแพ้จากหืด

สารเควอซิทินช่วยทำให้เยื่อบุผนังเซลล์ลดการหลั่งสารฮิสตามีนทำให้อาการแพ้ลดลงหัวหอมมีคุณสมบัติทำลายแบคทีเรียได้ จึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหืดบางกลุ่มที่เกิดจากแบคทีเรีย ลดการแพ้รวมทั้งไข้จามจากการแพ้ หรือที่เรียกกันว่าไข้ละอองฟาง (Hay Fever) ได้บ้าง
สารเคมีตัวหนึ่งในหัวหอมชื่อ "อะโจอีน" (Ajoene) สามารถลดการแข็งตัวของเลือดได้โดยให้ฤทธิ์เหมือนยาแอสไพรินแต่ทำงานต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่าการบริโภคหัวหอมเป็นประจำอาจช่วยเพิ่มโคเรสเตอรอลชนิดเอชดีแอล (HDL)ในเลือดได้ และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
หัวหอมอาจสร้างปัญหาได้บางประการ เช่น ผู้ที่มีอาการสำลักกรดจากกระเพาะ (Heartburn) เกิดอาการคล้ายคอไหม้ แสบอก ปากร้อน น้ำลายไหลออกมาก อาการเช่นนี้ไม่ควรบริโภคหัวหอมเพราะจะทำให้อาการปวดแสบปวดร้อนในปาก และคอรุนแรงขึ้น

ชา (Tea) 
ชาเป็นเครื่องดื่มที่นิยมมากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก มีอยู่สามชนิดขึ้นอยู่กับการบ่มได้แก่ ชาเขียว ชาอู่หลง และชาดำ ใบชามีสารต้านออกซิเดชั่น อยู่โดยธรรมชาติ ตัวสำคัญคือ แคททิชิน (Catechins) ซึ่งมีหลายตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารอีจีซีจี (EGCG) พบมากในชาเขียว นอกจากนี้ยังมีสารที่เรียกว่า ธีอะฟลาวินส์ (Theaflavins) ที่พบในชาดำมากกว่าชาเขียว

บร็อคโคลี (Broccoli)
บร็อคโคลีและผักตระกูล Cruciferous เช่น คะน้า บรัสเซล สเปราท์ (Brussel Sprouts) กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ วอเตอร์เครส ฮอร์สเซราดิช (Horseradish) เทอร์นิพส์ (Turnips) หัวผักกาดแดง มีกลูโคซิโนเลต (Glucosinolates) สูงที่สามารถเปลี่ยนเป็นซัลโฟราเฟน (Sulforaphanes) ในร่างกายได้ซัลโฟราเฟนช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังที่เกิดจากการก่อกลายพันธุ์ของเซลล์หลายชนิด โดยสันนิษฐานว่าผ่านการกระตุ้นของเอนไซม์ที่ถูกล้างพิษ (เอนไซม์ในระยะที่ 2) ในตับทำให้สารก่อโรคเรื้อรังที่เกิดจากการก่อกลายพันธุ์ของเซลล์อ่อนตัวลงและยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคร้ายและโรคเรื้อรัง

การศึกษาด้านระบาดวิทยาพิสูจน์ว่าการบริโภคผักตระกูล Cruciferous มากขึ้น เช่น บร็อคโคลี บรัสเซล สเปราท์ และ กะหล่ำปลีช่วยลดความเสี่ยงของการก่อโรคเรื้อรังที่ตับอ่อน ปอด ลำไส้ และต่อมลูกหมาก และเชื่อกันว่าไอโซไธโอไซยาเนต (Isothiocyanates) และซัลโฟราเฟน (Sulforaphanes) มีส่วนทำให้อัตราการเกิดโรคเรื้อรังที่เกิดจากการก่อกลายพันธุ์ของเซลล์ที่ลดลงภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้

เอกสารด้านการแพทย์แนะนำว่า โดยทั่วไปมีความสัมพันธ์แบบผกผันกันระหว่างการบริโภคผักตระกูล Brassica กับความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังที่เกิดจากการก่อกลายพันธุ์ของเซลล์ยิ่งบริโภคมากความเสี่ยงยิ่งน้อยลง ซึ่งความสัมพันธ์นี้จะคงที่มากที่สุด สำหรับโรคเรื้อรังที่ปอด ช่องท้อง ลำไส้ใหญ่ และ
ไส้ตรงและคงที่น้อยที่สุดสำหรับโรคเรื้อรังที่ต่อมลูกหมาก เยื่อบุมดลูก และรังไข่
นอกจากนี้ยังพบว่าบร็อคโคลีมีใยอาหารชนิดละลายน้ำที่ช่วยลดการดูดซึมโคเลสเตอรอล ทั้งยังนับเป็นแหล่งที่ดีของธาตุโครเมียมซึ่งช่วยควบคุมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินและควบคุมน้ำตาลในเลือด

สปิแนช (Spinach)
สปิแนชได้รับการยอดมรับว่าอยู่ในแถวหน้าของผักที่มีฤทธิ์ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง ที่เกิดจากการก่อกลายพันธุ์ของเซลล์ เป็นผักที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายตัวเมื่อเทียบกับบร็อคโคลีที่ได้รับการยอมรับสูงแล้วปรากฏว่าผักสปิแนชมีเบต้า-แคโรทีนสูงกว่าถึง 4 เท่า และมีสารลูทีนมากกว่า
การปรุงด้วยความร้อนอาจทำลายสารต้านอนุมูลอิสระ แนะนำให้บริโภคดิบหรือปรุงด้วยความร้อนไม่สูงนัก

องุ่นและเหล้าองุ่น (Grapes and Wine)
เรื่องราวของเหล้าองุ่นในการลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นที่กล่าวถึงกันมานานว่าการดื่มเหล้าองุ่นในปริมาณน้อยๆ อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ส่วนการดื่มมากเกินไปจะมีผลทำลายตับและเร่งความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ
สารออกฤทธิ์ในองุ่นและเหล้าองุ่นมาจากสารไฟโตนิวเทรียนท์หลายชนิด สารที่เชื่อกันว่าออกฤทธิ์มากที่สุดคือ สารองค์ประกอบฟิโนลิกที่ชื่อว่า
เควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในเปลือกองุ่น นอกจากนี้ยับพบสารฟีนอลอีกหลายตัวเช่น แคททิชิน (Catechin) และ สารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) ซึ่งแสดงฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้เช่นเดียวกัน

ส้มและเชอร์รี่ (Oranges and Cherries)
ส้มและผลไม้รสเปรี้ยวอย่างเชอร์รีซึ่งมีหลายพันธุ์ เป็นผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลเชอร์รีพันธุ์อะเซโรลา (Acerola Cherry) มีวิตามินสูง นอกจากนี้ยังเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ได้แก่ แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) เทอร์ปีน (Terpenes) และฟลาโวนอยด์ (Flavoniods) การบริโภคผลไม้กลุ่มนี้บ่อยครั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อเกิดโรคเรื้อรัง ที่เกิดจากการก่อกลายพันธุ์ของเซลล์

อะเซโรลา (Acerola)
อะเซโรลาเป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่อุดมด้วยสารไฟโตนิวเทรียนท์ นิยมนำมาทำสารสกัดอะเซโรลาเข้มข้น ซึ่งประกอบด้วยวิตามินซี 20% ทำงานเท่ากับกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid) ในการยับยั้งการเกิดเนื้องอกบนผิวหนัง สารสกัดจากอะเซโรลาทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับถั่วเหลือง และอัลฟัลฟา ไฟโตเอสโตรเจน เพื่อยับยั้งกระบวนการออกซิเดชั่นของไขมันชนิดเลว (LDL-Cholesterol)

สารสกัดจากอะเซโรลา จะทำงานได้ดีหากนำมาใช้เฉพาะที่ในการทดสอบเดียวกัน (โดยระบุว่าสารสกัดอะเซโรลาประกอบด้วยไฟโตนิวเทรียนท์ ที่มีประสิทธิภาพนอกเหนือจากวิตามินซีเพื่อเร่งการเติบโตของเซลล์ตามปกติ)

แอปเปิ้ล (Malus domestica)
แอปเปิ้ลเป็นแหล่งอาหารที่เข้มข้นของเควอซิทิน (Quercetin) แคททิชิน (Catechin)โพรไซยานิดิน (Procyanidin) โฟลริดซิน (Phloridzin) โฟลเรทติน (Phloretin)ไกลโคไซด์ (Glycoside) กรดแคฟเฟอิก (Caffeic Acid) กรดคอลโรเจนิก (Chlorogenic Acid) ให้ค่า ORAC ที่สูง ช่วยป้องกันเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลายจากสารอนุมูลอิสระ การบริโภคแอปเปิ้ล 2 ผลต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหืดและ
ทำให้การทำงานของปอดดีขึ้น (วัดโดยจำนวนแรงของการหายใจออก)

ที่มา : รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน. รู้ทันโภชนาการ 2. หลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร. คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5.5.51

สารอาหารคืออะไร

สารอาหาร คือ “ องค์ประกอบของสารประกอบทางเคมีของธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในอาหารที่เรากินเข้าไป สารอาหารมีโครงสร้างโมเลกุลเฉพาะตัว เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อาหารแต่ละชนิดประกอบด้วยโมเลกุลของสารอาหารหลายๆ ตัว ” ร่างกายเราต้องการสารอาหารกว่า 40 ชนิด และเพื่อให้ง่ายอีกเช่นกัน เราจึงจัดเป็นสารอาหารออกเป็นพวกๆ ที่สำคัญมี 6 จำพวก ได้แก่ สารอาหาร คาร์โบไฮเดรท , โปรตีน , ไขมัน , วิตามิน , เกลือแร่ , และน้ำ สารอาหารแต่ละชนิดมีหน้าที่เด่นเฉพาะแตกต่างกัน
สารอาหารคาร์โบไฮเดรท ทำหน้าที่เป็นสารตัวแรกที่ร่างกายจะนำไปใช้เป็นพลังงาน สารอาหารชนิดนี้เป็นแหล่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้พลังงานแก่ร่างกาย หากร่างกายได้รับสารอาหารชนิดนี้ไม่เพียงพอ จะสลายสารไขมันมาใช้เป็นพลังงาน หากไขมันไม่พอจะสลายสารโปรตีนมาใช้เป็นพลังงาน แต่การที่ปฏิกิริยาทางเคมีจะสลายเอาโปรตีนภายในร่างกายมาใช้เป็นพลังงานได้ก็ต่อเมื่อร่างกายขาดสารอาหารจากคาร์โบไฮเดรตและไขมันอย่างรุ่นแรง ถ้ามีสารนี้มากเกินไป ร่างกายจะเก็บสะสมไว้ในรูปของไขมัน สำหรับอาหารที่ให้สารอาหารคาร์โบไฮเดรทคืออาหารหมู่ 2
สารอาหารโปรตีน มีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อเพื่อการเจริญเติบโตของร่างกาย หรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หรือกล่าวง่ายๆ คือ เป็นสารตั้งต้นของการเสริมสร้างอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายไม่ว่าจะเป็น เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ เลือด ฮอร์โมน น้ำย่อย สารอาหารโปรตีนจะเป็นตัวทำหน้าที่โดยตรง หรือเมื่อมีบาดแผลร่างกายจะใช้สารโปรตีนซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม หากร่างกายขาดสารอาหารโปรตีน ร่างกายจะไม่สามารถใช้สารอาหารตัวอื่นๆ เข้ามาทำหน้าที่ทดแทนได้ สารอาหารโปรตีนจึงมีความสำคัญต่อวัยที่กำลังเจริญเติบโต และหญิงมีครรภ์ ส่วนวัยมีการเจริญเติบโตไปแล้ว ความต้องการโปรตีนของร่างกายจะลดลง แต่ร่างกายยังมีความต้องการเพื่อการซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ที่สึกหรอ อาหารที่ให้สารอาหารโปรตีนคืออาหารหมู่ 1
สารอาหารไขมัน สารอาหารชนิดนี้แม้จะให้พลังงานได้มากกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนก็ตาม แต่ไม่ใช่หน้าที่เด่นเฉพาะตัว ร่างกายไม่ได้ใช้สารไขมันเป็นตัวแรกในการนำไปสร้างพลังงาน หน้าที่เด่นของไขมันคือ ทำหน้าที่เป็นพาหะ หรือเคลื่อนย้าย หรือขนส่ง สารที่ละลายในไขมัน ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ขนส่งหรือเคลื่อนย้าย วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และ วิตามินเค ไปยังอวัยวะต่างๆ ซึ่งหากร่างกายไม่ได้รับไขมัน วิตามินเหล่านี้ก็จะไม่ถูกขนส่ง ส่งผลให้เกิดโรคขาดวิตามินดังกล่าว นอกจากนี้ยังช่วยในการดูดซึมวิตามินดังกล่าวในระบบทางเดินอาหาร ไขมันทำให้เรารู้สึกอิ่มได้นาน สารอาหารไขมันจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าสารอาหารตัวอื่นๆ และหากมีมากจะสะสมในอยู่ในร่างกาย อาหารที่ให้สารอาหารไขมันคืออาหารหมู่ 5
สารอาหารวิตามิน แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ สารอาหารวิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินซี และกลุ่มวิตามินบีรวม ( วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 หรือวิตามินบี 12) ส่วนอีกกลุ่มคือ สารอาหารวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และ วิตามินเค หน้าที่เด่นเฉพาะของวิตามินคือ ทำหน้าที่ร่วมกับน้ำย่อยหรือเอนไซม์ ในกระบวนการใช้สารอาหารในร่างกายเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างสมบูรณ์
สารอาหารวิตามินแต่ละตัวมีหน้าที่เด่นเฉพาะ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ภายในเซลล์เกิดการออกซิไดซ์จากอนุมูลอิสระ หรือกล่าวง่ายๆ คือ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารอาหารวิตามินเค จะทำหน้าที่เป็นสารช่วยในการแข็งตัวของเม็ดเลือดได้เร็วขึ้น ส่วนที่กล่าวว่าสารอาหารวิตามินทำหน้าที่ป้องกันโรคนั้น เป็นผลทางอ้อม ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ดังจะเห็นได้จาก การไม่กินอาหารที่มีวิตามินบี 1 เป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งร่างกายเกิดอาการของโรคเหน็บชา หรือในกรณีที่ไม่กินอาหารที่มีวิตามินซีเป็นเวลานาน จนกระทั่งมีเลือดออกตามไรฟัน นั่นคือผลจากการขาดวิตามินซี ดังนั้นควรกินอาหารที่มีสารอาหารวิตามินอย่างเพียงพอต่อความต้องการ จึงจะไม่ปรากฏอาการของโรค ร่างกายมีความสามารถในการสะสมวิตามินที่ละลายในไขมันไว้ใช้ได้ในระยะเวลาหนึ่ง ส่วนวิตามินที่ละลายในน้ำ หากร่างกายได้รับเกินความต้องการจะถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ อย่างไรก็ตามหากร่างกายได้รับวิตามินมากเกินความต้องการจะเกิดผลเสียเช่นกัน เพราะร่างกายของคนเราต้องการสารอาหารวิตามินในปริมาณที่ค่อนข้างน้อย แต่ร่างกายไม่สามารถทำงานได้ถ้าปราศจากสารอาหารวิตามิน ดังนั้นสารอาหารวิตามินจึงมีความสำคัญอีกเช่นกัน อาหารที่ให้สารอาหารวิตามินคืออาหารหมู่ 3 และหมู่ 4
สารอาหารเกลือแร่ ลักษณะหน้าที่เด่นเฉพาะของสารอาหารนี้คือ ทำหน้าที่เป็นตัวเสริม , ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุม , และทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการทำงานของปฏิกิริยาทางเคมีภายในเซลล์ ตัวอย่างเช่น เกลือแร่แคลเซียม และฟอสฟอรัสเป็นสารที่ร่างกายต้องใช้สร้างกระดูกและฟัน เกลือแร่บางตัวทำให้เกิดความสมดุลของความเป็นกรดและด่างภายในร่างกาย บางตัวเกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือด บางตัวก็มีส่วนสำคัญที่ร่างกายใช้ประกอบในการสังเคราะห์ฮอร์โมน
สารอาหารเกลือแร่มีอยู่ประมาณ 21 ชนิดที่สำคัญต่อร่างกาย เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการมากคือ แคลเซียม ซึ่งแคลเซียมเป็นส่วนประกอบของกระดูก , ฟัน , กล้ามเนื้อ , และในระบบเลือด เกลือแร่ประเภทอื่นที่ร่างกายต้องการนอกเหนือจากแคลเซียม ได้แก่ โซเดียม , โพแทสเซียม , ฟอสฟอรัส , แมกนีเซียม , คลอไรท์ , เหล็ก , ไอโอดีน , ทองแดง , สังกะสี , ฟลูออไรท์ เป็นต้น แต่ละชนิดจะมีหน้าที่ต่างกัน ถ้าขาดก็จะมีผลเสียต่อร่างกาย ด้วยเหตุนี้ร่างกายจึงขาดเกลือแร่ไม่ได้ อาหารที่ให้สารอาหารเกลือแร่คืออาหารหมู่ 3 และหมู่ 4
สารอาหารน้ำ น้ำแตกต่างจากสารอาหารตัวอื่นคือ น้ำเป็นทั้งสารอาหารและอาหาร น้ำทำหน้าที่เด่นเฉพาะคือ เป็นตัวทำให้เกิดการละลายและนำสารต่างๆ ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย และขณะเดียวกันของเสียบางส่วนในเซลล์ที่สามารถละลายในน้ำได้จะถูกทำละลายและขับออกพร้อมกับปัสสาวะ ในร่างกายมีน้ำประมาณ 2 ใน 3 ส่วน กระจายอยู่ในส่วนประกอบต่างๆ หากเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายสูญเสียน้ำประมาณร้อยละ 10 ไตจะทำงานผิดปกติ และถ้าสูญเสียน้ำไปประมาณร้อยละ 20 อาจจะทำตายได้เนื่องจากสภาวะขาดน้ำ น้ำจึงเป็นสารอาหารและอาหารที่สำคัญ เราอาจอดอาหารประเภทอื่นๆ ได้เป็นเดือน แต่ขาดน้ำไม่ถึง 2 หรือ 3 วันก็อาจจะเสียชีวิตได้

ส่วนอาหาร 5 หมู่ นั้นประกอบด้วย
หมู่ที่ 1: เนื้อสัตว์ต่างๆ ( เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อเป็ด เนื้อไก่ กุ้ง หอย ปู ปลา ) ไข่ ถั่วเมล็ด และนม
หมูที่ 2: ข้าว ( ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวสาลี ) น้ำตาล เผือก มัน
หมู่ที่ 3: ผักใบเขียว และพืชผักอื่นๆ เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง แตงกวา ตำลึง ยอดแค
หมู่ที่ 4: ผลไม้ต่างๆ เช่น กล้วยสุก มะละกอสุก เงาะ ลำไย ชมพู่ มังคุด
หมู่ที่ 5 น้ำมันพืช ( น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน) น้ำมันและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู เนย ครีม
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในปัจจุบันเกี่ยวกับอาหารคือ สารพิษตกค้าง เพราะพบว่ามีมากขึ้น ดังนั้นไม่ว่าสิ่งใดที่เราหยิบเข้าปาก เราควรจะต้องพิจารณาถึงความสะอาด ปราศจากสารพิษตกค้าง และคุณค่าทางโภชนาการของสิ่งนั้นๆ หากเราไม่ใช่ผู้ที่เลือกสรรอาหารมาปรุงเพื่อกินเอง เราไม่สามารถแน่ใจได้ทั้งหมดว่าสิ่งที่เราหยิบเข้าปาก จะสะอาดและปราศจากสารพิษตกค้างอันเป็นสารที่จะก่อให้เกิดมะเร็ง หรือทำลายระบบอวัยวะภายในของร่างกายหรือไม่ ปัญหานี้ค่อนข้างสร้างความวิตกให้กับหน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศมากโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับประเทศที่มีหน่วยงานสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ จะทำหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ และกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างในอาหาร ดังที่เราเห็นเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการส่งกลับของอาหารส่งออกจากบางประเทศ เพราะถูกตรวจพบว่ามีสารพิษตกค้างเกินเกณฑ์ที่กำหนดของประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ที่หน่วยงานสาธารณสุขยังไม่มีความเข้มแข็งหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกำหนดกฎเกณฑ์สารพิษตกค้างในอาหาร ก็จะกลายเป็นแหล่งรองรับ หรือเป็นตลาดของอาหารที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ ที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้นคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับเป็นผู้ผลิตอาหารที่ตรวจแล้วไม่ผ่านในประเทศของตน ส่งขายให้กับประเทศที่ไม่มีการควบคุมคุณภาพ ดังนั้นเราคงจะต้องใช้วิจารญาณในการเลือกอาหารที่จะกินให้มากขึ้น